สว. มะเร็งร้าย ในระบอบประชาธิปไตย

สว. มะเร็งร้าย ในระบอบประชาธิปไตย

เป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกันว่า ที่มาและบทบาทของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน เกิดขึ้นจากอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยการแต่งตั้งของ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจอยู่ในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มีส่วนใดยึดโยงกับประชาชน

ภายหลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หากแต่เป็นพรรครวมพลังประชารัฐ ได้ชิงรวบรวมพรรคการเมืองฝ่ายที่สนับสนุน คสช. จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พร้อมกับ เสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่ออีก 4 ปี

เรียกได้ว่าจุดเริ่มต้นทางตันในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ล้วนมีสาเหตุมาจาก สว. 250 คน ได้อำนาจจาก คสช. เข้าไปใช้สิทธิ มีเสียงในรัฐสภา ซึ่งล้วนให้คุณเฉพาะฝ่าย พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา และนักการเมืองฝ่ายที่สนับสนุนประยุทธทั้งสิ้น

การเลือกตั้ง ปี 2566 ประชาชนใช้อำนาจผ่านการลงคะแนนเสียงด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในความเข้าใจของประชาชน คือ  บัตรใบหนึ่งเลือกผู้แทนราษฎร หมายถึงในเขตทะเบียนบ้านของตนเอง จะเลือกใครพรรคใดมาเป็นผู้แทนราษฎร และแน่นอนว่าผู้ลงสมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากประชาชน คือ ผู้ชนะการเลือกตั้ง มาต่อกันที่บัตรเลือกตั้งอีกใบ ประชาชนต่างเข้าใจร่วมกันว่า เป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกบุคคลผู้มีความสามารถจากพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชน มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองใดได้รับคะแนนสูงสุด ถือ เป็น พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง และถือสิทธิ์ในการเสนอชื่อ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผลการเลือกตั้ง ปี 2566 แม้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนเป็นอันดับสูงสุด รวมคะแนนเสียงจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ ก็เรียกได้ว่าเกินกว่าครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ที่เกิดจากเสียงของประชาชน แต่ต้องประสบปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล นั่นเป็นเพราะการมีอยู่ของ สว. 250 คน ถูกนำมานับรวมอยู่ในสภา ทำให้สภาผู้แทนราษฎรที่ยึดโยงกับประชาชนมี ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นเพราะ สว. มะเร็งร้ายในระบอบประชาธิปไตย

5 เหตุผล ที่บ่งชี้ว่า สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดย ประยุทธ จันทร์โอชา ไม่ควรมีอยู่ในการเมืองระบอบประชาธิปไตย

  1. ที่มาของ สว. ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ที่ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ เคยล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  
  2. บทบาทหน้าที่ของ สว. ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่แรก แต่เข้ามาเพื่อสืบทอดอำนาจของกบฏ ให้ผ่านเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง และ สว. จึงมีบทบาทเป็นเพียงประทับตราคำว่า ประชาธิปไตย
  3. ศักยภาพทางการคิดของ สว. มีข้อจำกัด วิธีคิด ความเข้าใจ ที่มีต่อคำว่า “คะแนนเสียงข้างมาก” ผิดแผกแตกต่างไปจาก ความเข้าใจปกติของคนทั่วไปและคนส่วนบนโลกใบนี้  
  4. สว. ไม่ได้ทำหน้าที่ตราประทับ ให้กับมติของประชาชน เช่น การไม่ออกเสียง การงดออกเสียง (ทั้งที่มันก็ไม่ควรมี สว. แต่แรกแล้ว) แต่ยังนับรวมอยู่ในตัวเลข 250 ที่นำไปรวมอยู่ในสูตรคำนวณ ถูกเหมารวมกับตัวเลขผู้เห็นชอบ หรือผู้ไม่เห็นชอบ ถือเป็นการคดโกงอำนาจประชาชน
  5. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ สว. เมื่อพิจารณาจาก การก่อเกิดของ สว. บทบาทในปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคในระบอบ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ไม่คุ้มค่า สิ้นเปลือง ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน ซ้ำยังเป็นผลให้เกิดการเอนเอียงไม่เป็นสภาราษฎรที่เป็นธรรม

เมื่อพิจารณาจาก อำนาจหน้าที่ของ สว. แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลั่นกรอง ยับยั้งร่างกฎหมาย ตรวจสอบ ควบคุม เสนอแนะ เห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่ง ตลอดจนการเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สว. ที่เกิดจากอำนาจ คสช. ไม่มีความชอบธรรมในการได้รับบทบาทต่างๆ สิ่งที่ สว. ควรกระทำคือเคารพเสียงของประชาชน ด้วยการใช้อำนาจเป็นเพียงตราประทับความถูกต้องให้กับประชาชน และเปิดทางให้ผลเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างราบรื่น และสิ้นสุดอำนาจ สว. ที่เกิดจาก คสช. อย่างสง่างาม เราไม่ยอมรับการมีอำนาจของคุณ แต่เราสามารถให้ความชื่นชมการสิ้นสลายเพื่อประชาชนได้อย่างจริงใจ  

 

หลักการประชาธิปไตย เสียงข้างมาก นับคะแนนเสียงกันแบบไหน

หลักการประชาธิปไตย เสียงข้างมาก นับคะแนนเสียงกันแบบไหน

หลักการประชาธิปไตยที่ว่าด้วยการได้ลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้ชนะการเลือกตั้งคือ ได้รับเสียงข้างมาก คือ นับจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประชาชนอยากให้ใครมาเป็นผู้นำ ก็ลงคะแนนเสียงให้พรรคนั้นหรือผู้สมัครคนนั้น ขอเน้นย้ำว่าเป็นการนับคะแนนที่ได้รับจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นับคะแนนเสียงจากผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อค้นหาพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนรวมสูงสุด

ภายหลังจากการเลือกตั้งฯ ปี 2566 มีการอ้างถึงวิธีการนับเสียงข้างมากผิดไปจากที่อธิบายมาในข้างต้น คือไปนำจำนวนเสียงที่ไม่ได้ลงคะแนน คะแนนที่ไม่ได้เลือก คะแนนที่ไปกระจัดกระจายอยู่ตามพรรคอื่นๆมานับรวมกัน แล้วบอกว่าอันนี้ต่างหากคือเสียงข้างมากที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้ !!!

แต่ถ้าจะลองใช้ความพยายามขั้นสูงที่จะทำความเข้าใจว่าไม่ใช่การพยายามจะโกงผลการเลือกตั้ง พยายามที่จะเข้าใจให้ได้ว่าเป็นวิธีคิดที่หลากหลายที่เกิดขึ้นได้ เราก็ลองเอาวิธีการนับแบบนั้นมาใช้ให้เหมือนกัน ก็จะมาสู่คำถามหลากหลายรูปแบบ เป็นต้นว่า พรรคไหนมีจำนวนเสียงที่ไม่ถูกเลือกสูงที่สุด พรรคไหนที่ประชาชนไม่ให้ความไว้วางใจมากที่สุด

สรุปแล้ว กติกาการนับคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ควรมาจากวิธีคิดแบบใดกันแน่ ระหว่าง นับคะแนนเสียงจำนวนมากที่สุดที่ได้รับจากผู้มีสิทธิลงคะแนน VS นับคะแนนจากบัตรเสีย นับคะแนนจากผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์ นับคะแนนจากผู้ที่ไม่ได้เลือกว่าใครไม่ถูกเลือกมากที่สุด

 

Text: จอมยุทธ แห่งเมืองเพชร

Image: https://www.pexels.com/

ตามหาวันเฉลิม เก็บความวงเสวนาหนึ่งสัปดาห์ของการถูกอุ้มหาย

ตามหาวันเฉลิม เก็บความวงเสวนาหนึ่งสัปดาห์ของการถูกอุ้มหาย

อ่านต้นฉบับ “ตามหาวันเฉลิม” เก็บความวงเสวนาหนึ่งสัปดาห์การหายตัวของ วันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์” โดย Amnesty 

กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 25 องค์กรจัดงานเสวนา “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” โดยได้เชิญวิทยากรทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อพูดคุยสนทนา รวมถึงออกแบบหลักประกัน หรือกฎหมาย เพื่อไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับใครก็ตาม

ย้อนกลับไปหลังการรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในปี 2557 วันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกคณะรัฐประหารเรียกไปรายงานตัวในค่ายทหาร อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปกัมพูชา ก่อนที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เขาลักพาตัวและอุ้มหายไปในรถสีดำคันหนึ่ง จากหน้าคอนโดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน รวมถึงมีพยานเห็นเหตุการณ์ที่พยายามเข้าช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ

ล่วงเลยมาถึงวันนี้ ข่าวคราวของเขายังคงไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความหวังเมื่อชาวโซเชียล มีเดียต่างออกมาร่วมกันติด #Saveวันเฉลิม เรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลไทยติดตามการหายตัวไปของเขาอย่างเร็วที่สุด

ล่าสุด กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 25 องค์กรร่วมกันจัดงานเสวนา “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” โดยได้เชิญวิทยากรทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อพูดคุยสนทนา รวมถึงออกแบบหลักประกัน หรือกฎหมาย เพื่อไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใครก็ตาม

ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิม กล่าวว่า วันเฉลิม ทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมตั้งแต่ครั้งเป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ หรือครั้งลงไปทำงานกับเยาวชนภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2547 โดยเขาเปรียบว่า วันเฉลิมเป็นดั่งต้นกล้าในการพัฒนาสังคมตั้งแต่สมัยเยาวชน และแม้เขาจะเป็นคนที่พูดจาตรงไปตรงมาไปบ้าง แต่ไม่มีทางที่เขาจะทำร้ายใคร ชยุตม์ย้ำว่าประเด็นที่มีการพูดถึงเรื่อง วันเฉลิม เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ’ ไม่ใช่เรื่องจริง เพียงแต่วันเฉลิมไม่มีสิทธิ์ที่จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้เลย ชยุตม์ทิ้งท้ายว่า 

ไม่มีใครสมควรถูกอุ้มหายไปทั้งนั้น ถึงแม้เขาจะมีความคิดและแสดงออกแตกต่างแค่ไหนก็ตาม ถ้าหากผิดก็ควรให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย และรัฐบาลควรติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม เพราะอย่างน้อยเขายังเป็นคนไทยคนหนึ่ง”

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่าเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย แต่มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงตอนนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN รายงานว่า มีนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยถูกอุ้มหายไปแล้วทั้งหมด 82 คน โดย 9 คนถูกอุ้มหาย ขณะที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ

กรณีที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง และไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับรัฐบาลไทยหรือไม่ ในฐานะที่เขาเป็นคนไทยคนหนึ่ง รัฐบาลมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องคุ้มครองเขา นอกจากนี้ ประเทศกัมพูชาในฐานะประเทศภาคีที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยระหว่างประเทศหลายฉบับ ควรต้องให้ความร่วมมือในการสอบสวนการหายไปของวันเฉลิมเช่นกัน

สุณัยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO ของไทย ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ตัวตนของ วันเฉลิม ด้อยค่าลง เหตุใด IO ของไทยถึงต้องปฏิบัติการช่วยรัฐบาลกัมพูชา ทั้งที่ผู้ที่หายตัวไปคือคนไทยทั้งคน เขาทิ้งท้ายว่า 

“ควรมีการเปิดเผยหนังสือของสถานทูตไทยที่ส่งไปให้รัฐบาลกัมพูชาว่า มีการใช้ถ้อยคำและเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าหากข้อความในหนังสือยังมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ควรผลักดันให้มีการออกเอกสารฉบับใหม่ รวมถึงเรียกทูตกัมพูชามาติดตามความคืบหน้าในคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง”

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายตัวไปเมื่อปี 2547 กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองการอุ้มหายโดยเร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองทุกคนอย่างเท่าเทียม เธอเล่าว่าทุกๆ ครั้งที่ตัวเธอเองและครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายคนอื่นพยายามให้ภาครัฐช่วยเหลือในการตามตัวผู้สูญหาย ไม่มีสักครั้งที่มีความคืบหน้า และไม่มีสักครั้งที่พวกตนรู้สึกว่ามีความหวังเพิ่มขึ้น

เธอกล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ครอบครัวของผู้สูญหายจะรับมือกับความรู้สึก “เหมือนอยู่ในม่านหมอกของความคลุมเครือตลอดเวลา” เช่นนี้ นอกจากนี้ ความพยายามลดทอนคุณค่าของผู้ที่ถูกอุ้มหาย ไม่ว่าจากทางไหนก็ตาม ยิ่งเป็นการซ้ำเติมครอบครัวให้สิ้นหวังมากขึ้น

“นอกจากกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย ทางการไทยควรมีการเยียวยาไม่ใช่แค่ในเรื่องเงินทอง แต่รวมถึงด้านความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ เธอเสนอว่า ครอบครัวของผู้สูญหายควรมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ตลอดจนเป็นคณะกรรมการวิสามัญติดตามกรณีที่เกิดขึ้น”

เธอกล่าวจบว่า ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชาควรร่วมมือกันในการติดตามการหายตัวไปครั้งนี้ ส่วนตัวเธอขอให้กำลังใจทุกครอบครัวของผู้สูญหาย และเรียกร้องให้สังคมยืนเคียงข้างครอบครัวของผู้สูญหาย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้เหมือนสังคมไทยอยู่ในดินแดนที่คลุมเครือ ปากที่เผอิญพูด มือที่บังเอิญโพสต์ หรือเพียงแค่ความคิดที่แวบเข้ามา ทำให้เราวิตกว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งที่จริงกฎหมายไม่ควรถูกออกแบบมาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

แอมเนสตี้เรียกร้องให้มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมที่สุด รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำให้ทุกคนปลอดภัย ดังนั้น การออกกฎหมายป้องกันการอุ้มหายเป็นหลักประกันขั้นแรกสุดของประชาชน ที่อย่างน้อยสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายกับประชาชน

แอมเนสตี้ยืนยันว่า วันเฉลิม เป็นบุคคลหนึ่งที่ใช้สิทธิ เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย และยินดีที่ได้เห็น แฮชแทค และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าสังคมส่วนหนึ่งยังคงยืนอยู่ข้างวันเฉลิม

อานนท์ ชวาลาวัณย์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่า นับตั้งแต่ คสช. ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 บรรยากาศการเมืองไทยอึมครึมขึ้นมาก นอกจากการออกคำสั่งให้คนบางกลุ่มเข้าไป ‘ปรับทัศนคติ’ ในค่ายทหารแล้ว ยังมีการรายงานว่านักเคลื่อนไหวหลายคนถูกทำให้หายตัวไป ไม่ว่าจะเป็น วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ในปี 2560 สุรชัย แซ่ด่าน และอีกสองสหายคนสนิทเมื่อปี 2561 หรือ สยาม ธีรวุฒิ เมื่อปี 2562 และไม่เพียงแค่นั้น ราวเดือนสิงหาคมปี 2562 มีการรายงานว่า อ๊อด ไชยวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวลาว หายตัวไปจากบ้านพักในกรุงเทพฯ อานนท์ย้ำเช่นเดียวกับทุกคนว่า 

“ไม่ว่าสาเหตุเบื้องหลังจะเกิดจากอะไร รัฐบาลไทยและกัมพูชามีหน้าที่ต้องติดตามและทำให้ความจริงปรากฎ เพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เขาทิ้งท้ายว่าที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีใครควรต้องถูกทำร้าย ด้วยวิธีการนอกกฎหมาย”

นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ (กฎหมาย) ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังประสานผ่านกระทรวงต่างประเทศ ไปยังสถานทูตไทย ในกัมพูชา เพื่อติดตามกรณีดังกล่าว

ทางด้านความคืบหน้าของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหาย กำลังคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เธอยังไม่ได้รับปากว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกคลอดและนำมาใช้เมื่อไร

พ.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่า รากฐานของกฎหมายไทย อาจจะไม่ได้มีขึ้นเพื่อรับใช้ประชาชนโดยแท้จริง โดยเฉพาะรัฐไทยมักพยายามเน้นการควบคุม ปราบปราม อาชญากรรมเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ทำให้หลายครั้งเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา

เขาชี้ว่า คงถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปกฎหมายให้รับใช้ประชาชน และเป็นประชาธิปไตยเสียที ต้องไม่ทำให้อำนาจในการออกและตีความกฎหมายอยู่ในอุ้งมือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องทำให้เป็นของประชาชนทุกคน เพื่อลดอคติให้น้อยที่สุด หรือใช้กฎหมายเพื่อเข้าข้างตนและกลุ่มของตนเอง

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่ารัฐไทยยังติดอยู่กับการใช้เลนส์แบบเก่าสมัยสงครามเย็นมองประชาชนว่าเป็นศัตรู กับสถาบันของชาติ และยิ่งรุนแรงขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 ดั่งจะเห็นได้จากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงการทำร้ายนักเคลื่อนไหวที่ถี่เพิ่มขึ้น หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในปี 2554 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน 

เขาเอ่ยถึงประเด็นที่ภายหลังที่ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาถึงประเด็นมาตรา 112 ก่อนที่ประชาชนทางบ้านจะคอมเมนท์แสดงความเป็นห่วง เขาชี้ว่ามันสะท้อนว่าประชาชนในประเทศรู้ดีถึงความรุนแรงที่แฝงอยู่ในสังคมไทย และความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน หากคิดแตะต้องผู้มีอำนาจ และเจ้าหน้าที่รัฐ

เขามองว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายป้องกันการอุ้มหายจะเกิดขึ้นโดยง่ายในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมือง ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันเรื่องนี้ โดยในเบื้องต้น ได้ร่างกฎหมายฉบับร่างเสร็จเรียบร้อยและผ่านที่ประชุมมติพรรคแล้ว ในลำดับถัดไปจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าไปพูดคุยใน กมธ. อีกรอบ ซึ่งหวังว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จะช่วยเป็นอีกแรงที่ผลักดันเรื่องนี้

ตามหาวันเฉลิม : ถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อกลไกป้องกันการบังคับสูญหาย

ตามหาวันเฉลิม : ถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อกลไกป้องกันการบังคับสูญหาย

ต้นฉบับ โดย ILAW 

11 มิถุนายน 2563 ภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นป้องกันการทรมานและอุ้มหายนำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์จัดวงเสวนาเรื่อง “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” กรณีการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองระหว่างการลี้ภัยในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ได้กลายเป็นอีกหน้าหนึ่งของบทเรียนการบังคับสูญหายของไทย โดยวงเสวนามีประเด็นเช่น การบอกเล่าเรื่องราวจากคนใกล้ชิดของวันเฉลิม, การสะท้อนประสบการณ์ของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายและบทเรียนความพยายามในการสร้างกลไกป้องกันการทรมานและการบังคับสูญหาย

ไม่ว่าจะเป็นวันเฉลิมหรือใคร หรืออาจจะเป็นอาชญากรที่ฆ่าคนแล้วลี้ภัย เขาไม่สมควรที่จะถูกอุ้มฆ่า

ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิมกล่าวว่า “…ปี 2552 ผมเริ่มรู้จักกับวันเฉลิม รู้จักกันมาสิบปีและทำงานร่วมกันมาห้าปี มีการถกเถียงระหว่างการทำงาน วันเฉลิมหรือต้าร์ เป็นคนน่ารัก ร่าเริงแจ่มใส ตรงไปตรงมา ในเรื่องของการทำงาน เขาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้บริบทที่ขบขัน ถ้าเคยไปดูคลิปวิดีโอในยูทูปจะเห็นถึงความขบขัน ถ้าใครเคยย้อนดูทางเฟซบุ๊กที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะมีความตลกขบขัน ที่เน้นย้ำคือ ต้าร์ทำร้ายใครไม่ได้ เพื่อนของวันเฉลิมเล่าว่า เมื่อตอนที่ลงสมัครประธานนักเรียน วิธีการหาเสียงของวันเฉลิม ไม่พูดเรื่องนโยบาย แต่พูดเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันในโรงเรียน ความสัมพันธ์ ความปลอดภัย หลังจากนั้นเขาได้ไปทำงานเยาวชนในชายแดนใต้ มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสึนามิ วันเฉลิมเป็นต้นกล้าการพัฒนาสังคมตั้งแต่ตอนที่เป็นเยาวชน

กรณีของเพจกูต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆที่มีการระบุว่า วันเฉลิมเป็นแอดมินเพจไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นกล่าวหาโดยที่เขาเองไม่ได้มีสิทธิที่จะโต้แย้งอะไรเลย เท่าที่ทราบเขาไม่ใช่แอดมินเพจ แต่เป็นการกล่าวอ้าง เหตุผลที่เขาต้องลี้ภัยออกไป ในปี 2557 ตอนนั้นผมและวันเฉลิม เรามีหลายเหตุผลที่ต้องยุติการทำงานในองค์กร แต่ยังพูดเรื่องเอดส์ ยาเสพติด เมื่อไหร่ที่มีประเด็นที่เชื่อมต่อกับงานที่เราทำ เราก็จะออกมาพูด แน่นอนว่า งานที่เราทำไม่ได้อยู่แค่ที่ความเป็นอยู่ มันมีเรื่องนโยบาย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดเรื่องการเมือง เขาถูกเรียกตัวโดยคสช. วันเฉลิมไม่ได้มั่นใจความยุติธรรมที่จะได้จากรัฐ วันเฉลิมเลือกที่จะแสวงหาความปลอดภัยด้วยการลี้ภัย

ในเรื่องที่เขาทำอะไรลึกๆ เรามีเพื่อนหลายวง ผมจะอยู่วงนอกออกมา มีการติดต่อทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรม เรื่องกัญชาที่เขาโพสต์ ถ้าเกิดว่า เขาจะทำผิดกฎหมาย เขาจะโพสต์ภาพออกโซเชียลทำไม คอนโดที่อยู่ไม่ได้ใหญ่ จะทำเพื่อธุรกิจได้จริงหรือ เราอยากให้มีการแยกแยะ โดยประเด็นของผม หลักคือ ไม่ว่าจะเป็นวันเฉลิมหรือใคร หรืออาจจะเป็นอาชญากรที่ฆ่าคนแล้วลี้ภัย เขาไม่สมควรที่จะถูกอุ้มฆ่า เรามีกระบวนการกฎหมาย ทุกรัฐมีกระบวนการกฎหมาย ผมเพิ่งตอบคนที่มาบอกว่า การอุ้มหายวันเฉลิมไม่ใช่เรื่องของคนไทย เป็นเรื่องของเพื่อนบ้าน ใช่เป็นเรื่องของเพื่อนบ้าน แต่เขาเป็นคนไทย มีอาชญากรรมเกิดขึ้น เขาต้องตามหาว่า ใครเป็นผู้กระทำ หากผู้กระทำไม่ใช่คนในประเทศกัมพูชา ผมมองว่า เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และไม่สมควรที่จะมีใครถูกกระทำแบบนี้ เรื่องนี้เกิดมาตั้งแต่เด็กๆ วันเฉลิมไม่ใช่คนแรก เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมาเกี่ยวกับรัฐและกฎหมาย มักจะถูกเตือนว่า ระวังนะ คำถามของผมคือ เราไม่มีกฎหมายหรือ เราต้องเตือนความปลอดภัยกันอย่างนี้ใช่ไหม…
ประเด็นกฎหมายและกลไกการป้องกันการบังคับสูญหาย]ในความเป็นไปได้ในเชิงกฎหมายเราเชื่อมั่นคนรุ่นใหม่และนักการเมืองรุ่นใหม่ในระดับหนึ่ง แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายหากเราจะให้ภาระไปอยู่ที่ผู้มีอำนาจ คนในสังคมเรามีส่วนสำคัญในการที่จะไม่ไปสนับสนุนมูลเหตุที่ทำให้เกิดการอุ้มหาย ในโซเชียลพูดถึงว่า ทำไมพูดให้ร้ายประเทศ เราไม่ได้ให้ร้ายใคร ถ้าไม่อยากคุยเรื่องวันเฉลิม เราลองนึกถึงว่า หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมและใครก็ตาม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเรายอมรับมันได้หรือครับ…”
“…ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องของวันเฉลิม…วันเฉลิมคือคน เป็นมนุษย์หนึ่งคน สิทธิเบื้องต้นของการเป็นมนุษย์คือการที่จะมีชีวิต ตอนนี้เขาอยู่ในสภาวะที่เขาอาจจะถูกพรากชีวิตไป…”
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์  กล่าวว่า “…ตอนนั้นมันเป็นช่วงหัวค่ำ ผมได้รับโทรศัพท์บอกว่า ตาร์ถูกอุ้มหาย ผมตกใจมาก หนึ่งเป็นคนที่เรารู้จักกันอยู่ สอง เป็นรูปแบบของการกระทำที่ไม่ได้เกิดขึ้นรายแรก มันมีทิศทางแบบแผนที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องกับคนเห็นต่างที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ ต้องหลบลี้หนีไปนอกประเทศแล้วยังไม่พ้นชะตากรรม ถูกติดตามไล่ล่า เมื่อตรวจสอบเข้าไปในกัมพูชาเราสามารถยืนยันได้ว่า เกิดเหตุการณ์จริง ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องของวันเฉลิมไม่ว่าเราจะรู้จักเขาหรือไม่ เรารู้จักเขาในฐานะไหน มีภาพเกี่ยวกับเขาออกมาอย่างไร เริ่มจากหนึ่งเราต้องมองว่า วันเฉลิมคือคน เป็นมนุษย์หนึ่งคน สิทธิเบื้องต้นของการเป็นมนุษย์คือการที่จะมีชีวิต ตอนนี้เขาอยู่ในสภาวะที่เขาอาจจะถูกพรากชีวิตไป การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดได้เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่เราควรจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจ ควรจะต้องห่วงกังวล
สอง วันเฉลิมเป็นคนไทย จะเห็นด้วยเห็นต่างกับรัฏฐาธิปัตย์ จะเป็นที่รู้จักตัวกับนายกประยุทธ์หรือไม่ เขาเป็นคนไทย รัฐบาลไทยมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะพิทักษ์คุ้มครองคนไทย โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในสภาวะที่ชีวิตของเขาเผชิญอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ต้องบอกว่า รู้จักไม่รู้จัก ประชดเหน็บแนม นั่นไร้สาระ และนั่นคือการทำให้ด้อยค่า เบี่ยงประเด็นเรื่องการรับผิดชอบของรัฐบาลไทย ไม่ต้องมาพูดว่า รู้จักเขาหรือเปล่า จริงๆถ้าถามว่ารู้จักเขาหรือเปล่า ตัวคำสั่งคสช.ที่เรียกวันเฉลิมมายงานตัว และตัววันเฉลิมเขาไม่ยอมรับความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ การเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ซึ่งอาจมีผลทำให้เขาถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ไม่สอดรับกับกติกาสากลใดๆทั้งสิ้น นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่รายงานตัวและลี้ภัย
ผมเสียใจเมื่อวานที่ฟังการอภิปรายตอบคำถามในรัฐสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมันเหน็บที่บอกว่า วันเฉลิมไม่ใช่ผู้ลี้ภัยเช็คกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)  ไม่มีชื่อ ผมไม่เข้าใจว่า คนระดับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศไม่ได้อ่านคำนิยามตามกติกาสากลว่าด้วยผู้ลี้ภัยหรือ ผู้ลี้ภัยคือคนที่มีความกลัว ทำให้กลัวว่า ตนเองจะถูกประหัตประหารด้วยเหตุผลว่า เขามีความเชื่อทางการเมืองหรือศาสนา หรือเขื้อขาติ หรือสาเหตุอื่นๆ ทำให้ต้องอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเลย เพียงแต่สามารถยืนยันว่า เขามีความกลัวที่อยู่ในบ้านเกิดถิ่นฐานไม่ได้ วันเฉลิมนี่ชัดเจนว่า เป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง การเบี่ยงประเด็นเรื่องการจดทะเบียนกับ UNHCR เหมือนทำให้วันเฉลิมด้อยค่า พยายามสร้างภาพที่เป็นภาพที่บิดเบือนให้สังคมเข้าใจ ในทัศนะของฮิวแมนไรท์วอทช์เขาคือผู้ลี้ภัย
วันเฉลิมเป็นคนเห็นต่างที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติมาตลอด ไม่ใช่คนที่ใช้กำลังรุนแรง ยั่วยุมีการปลุกปั่นโค่นล้มด้วยกำลังด้วยอาวุธแต่อย่างใด เป็นคนเห็นต่างๆที่ทำกิจกรรมอย่างสันติ ไม่ว่าวันเฉลิมจะเป็นอย่างไร ปล่อยให้คนไทยไปเผชิญชะตากรรมสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตไม่ได้ รัฐบาลต้องเดือดร้อนต้องกังวลต้องเร่งในการทวงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เรียกร้องให้มีการสอบสวน และเป็นไปได้นำตัวกลับมาโดยปลอดภัย นี่อะไรเมื่อวานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพูดในรัฐสภา รายงานการเรียกร้องให้มีการสอบสวนเป็นเรื่องสร้างกระพือข่าว เรียกร้องความสนใจ ผมไม่คิดว่า จะได้ยินจากปากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
วันเฉลิมไม่ใช่รายแรก วันเฉลิมเป็นรายที่เก้าแล้วของคนเห็นต่างที่ต้องลี้ภัยและถูกอุ้มหาย ในเก้าคน สองคนพบว่าเป็นศพถูกฆ่าอย่างทารุณ ถูกคว้านท้อง รัดคอ จริงๆเชื่อว่า มีสามศพด้วยซ้ำ แต่ศพที่สามถูกปล่อยให้ไปตามแม่น้ำ ชะตากรรมของคนที่ถูกอุ้มหายมันเสี่ยงถึงขั้นต่อชีวิตเพราะมีการตายเกิดขึ้น ตอนนี้จะครบสัปดาห์แล้ว ยิ่งเวลาทอดนานเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อชีวิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะทุกชั่วโมง มัวแต่มาตีฝีปาก ประชดเหน็บแนมมันไม่ใช่วิสัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหรือนายกรัฐมนตรี
สิ่งที่น่ากังวลเราพบว่า ในโซเชียลมีเดียมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ มีการประสานงานที่จะสร้างมลทินและด้อยค่า เป็นคำศัพท์อย่างเป็นทางการของหน่วยงานความมั่นคงว่า ทำอย่างไรให้คนเห็นต่างและเป็นศัตรูด้อยค่าและมีมลทิน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการนำรูปที่โพสต์โดยวันเฉลิมก็ดี ทำให้วันเฉลิมอยู่ในสถานะที่ทำให้สังคมมองว่า ไปช่วยเขาทำไมคนแบบนี้ นี่คือปฏิบัติการด้านข่าวสารหรือไอโอ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความด้อยค่าและมีมลทิน
ผลที่ตามมาคือ ช่วยทำให้รัฐบาลกัมพูชาผลักเลี่ยงภาระในการสอบสวน คำถามที่ตามมาคือแล้วช่วยรัฐบาลกัมพูชาทำไม มีเอี่ยวอะไรกันหรือเปล่า สมรู้ร่วมคิดกันหรือเปล่า ข้อเรียกร้องของฮิวแมนไรท์วอทช์จึงเป็นข้อเรียกร้องต่อทั้งสองรัฐบาล รัฐบาลกัมพูชาในฐานะเจ้าของพื้นที่ รัฐบาลกัมพูชาต้องมีคำตอบได้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ท่ามกลางพยานทีเห็นเหตุการณ์และมีภาพวงจรปิด ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่รับรู้ แต่โฆษกตำรวจกัมพูชาบอกว่า นี่คือเฟคนิวส์ คนที่ใหญ่กว่าบอกว่า ไม่รู้ไม่เห็นจนกระทั่งถูกกดดันจากนานาชาติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บอกว่า ไหนบอกว่า มีขื่อมีแป ต้องมีคำตอบมิเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อความช่วยเหลือ ส่วนรัฐบาลไทยจะเพิกเฉยต่อวันเฉลิมไม่ได้ ไม่ใช่พวกเดียวกับรัฐบาลก็ไม่ดูดำดูดีไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ไม่ดูดำดูดี แต่มีการประชดแหน็บแนม ทำให้เขาด้อยค่า
ผมอยากเห็นหนังสือที่กระทรวงต่างประเทศส่งไปให้รัฐบาลกัมพูชาว่า สอบถามหรือจี้การสอบสวน ต้องได้เห็นถ้อยคำของหนังสือฉบับนี้ กรรมาธิการสภาควรจะต้องมีการขอเรียกเอกสารฉบับนี้ ขอดูถ้อยคำ ถ้าเป็นถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนไม่ผูกมัดรัฐบาลจะต้องทำให้ครบถ้วน เขียนใหม่หรือเรียกทูตกัมพูชาในไทยมาสอบถามว่า ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ผมอยากจะย้ำว่า ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยทางการเมืองแขวนอยู่บนเส้นด้าย ถึงแม้ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย แต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียน เนื่องจากทางการไทยคือรัฐบาลคสช.ในขณะนั้นขอรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านไม่ให้ขึ้นทะเบียน ต่อให้ UNHCR อยากจะช่วยก็ช่วยไม่ได้ ตีแผ่ออกมาและต้องทำให้หยุดพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ควรมีการขัดขวางไม่ให้กลไกระหว่างประเทศคุ้มครองผู้ลี้ภัย เป็นการละเมิดทำให้ตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงชีวิต…”
“…การบังคับสูญหายเป็นเรื่องของการสร้างความคลุมเครือโดยรัฐ ความคลุมเครือระหว่างการมีชีวิตอยู่กับการไม่มีชีวิต มันเหมือนคำสาปที่ครอบครัวต้องเผชิญทุกวัน…”
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า “ถ้าต้องการยุติการบังคับสูญหายเราต้องมีการสร้างกลไก ไม่ว่ากลไกในประเทศเองหรือระหว่างประเทศที่จะเป็นหลักประกันว่าจะต้องไม่มีใครถูกบังคับสูญหาย ไม่ว่า คนๆนั้นจะเป็นใครก็ตาม อย่างที่เมื่อวานเราได้ยินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศพูดว่า ใครก็ไม่รู้ไม่รู้จัก การพูดในลักษณะนี้เป็นการไม่เห็นความสำคัญ เหมือนกับมองว่า ถ้าคนที่ไม่เป็นที่รู้จักจะหายไปสักคนคงไม่มีใครเดือดร้อน ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ไม่ว่าใครก็ตามจะต้องไม่ถูกอุ้มหายไปเฉยๆโดยปราศจากการค้นหา กรณีสมชายก็ทราบดี พอถูกอุ้มไปแล้วนายกฯก็พูดว่า สมชายเป็นใครไม่รู้จัก ทะเลาะกับเมียมั้ง รูปข้างหลัง[ภาพของผู้ถูกบังคับสูญหายรายอื่นๆ]ก็ล้วนแล้วแต่ถูกกล่าวหาว่า ค้ายาเสพติดมั้ง บางคนก็เกี่ยวกับการก่อการร้ายในภาคใต้หรือการคอร์รัปชั่นคือคนที่ถูกอุ้มหายมักจะถูกทำให้เป็นคนไม่ดีในสายตาของรัฐ และมีคนที่พร้อมจะเชื่อและเหมือนทำให้เป็นเหตุผลว่า คนไม่ดีหายไปไม่เห็นต้องทำอะไร ไม่เห็นต้องเดือดร้อน ทั้งที่จริงแล้วรัฐควรจะคุ้มครองพลเมืองทุกคนของรัฐ ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ตรงนี้ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้เลย และประเทศไทยพูดอยู่เสมอว่า มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะคุ้มครองไม่ให้ใครสูญหาย มีการลงนามอนุสัญญาคนหาย พยายามที่จะร่างพ.ร.บ.ทรมาน-สูญหาย คือเขียนกฎหมายก็เขียนด้วยความกลัว กลัวว่า จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รึป่าว กลัวไปกลัวมาก็ห้าหกปีทำอะไรไม่ได้ จนวันนี้ไม่มีกลไกอะไรในการคุ้มครอง
16 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยได้ยินเจ้าหน้าที่รัฐคนใดบอกว่า จะให้ความยุติธรรม มีแต่คำพูดที่ทำให้เกิดความสิ้นหวังมากกว่า เช่นยังไงก็ไม่เจอ ทำใจเถอะ จะให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ทั้งที่รัฐมีความสามารถมากมายในการค้นหา แต่มันอยู่ที่ความเต็มใจที่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นมากกว่า ส่วนตัวผิดหวังมากอย่างเมื่อวานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาบอกว่า วันเฉลิมไม่เคยมาขอความช่วยเหลือ จะให้เขาขออะไร จะให้ไปคุ้มครองพยานหรือขอกองทุนยุติธรรมเขาคงไม่ขอ แต่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ความหวังหน่อยได้ไหม ทำอย่างไรที่จะให้ความเป็นธรรมกับพลเมืองไทยไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศได้ไหม
ในเรื่องของการสูญหาย ทันทีที่รับรู้แล้วจะต้องมีการติดตามหาตัว ประเทศกัมพูชาให้สัตยาบันเรื่องผู้ลี้ภัยปี 1951 หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา กัมพูชาให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศเยอะมาก เพราะฉะนั้นกลไกเหล่านั้มันมีขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่เป็นก็แล้วแต่ คนที่หนีภัยไม่ว่า จะเป็นภัยการสู้รบ ภัยความอดอยากก็แล้ เมื่อหนีภัยเข้าไปในประเทศไหน ประเทศนั้นจะต้องมีหลักประกันว่า จะไม่ทำให้ผู้ลี้ภัยไปอยู่ในอันตราย ตรงนี้คือหลักสากล ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาทรมาน ลงนามอนุสัญญาคนหาย และกัมพูชามีความผูกพันที่ชัดมาก เมื่อไหร่ที่รู้ข่าวก็ต้องเริ่มดำเนินการสืบสวนสอบสวน ไม่ใช่มาถึงวันนี้มานั่งถามว่าได้ไปแจ้งความหรือยัง ซึ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดแบบนี้ ถามว่าคุณปิดประเทศอยู่ ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ใครจะสามารถทำได้ ถ้ารัฐไม่ทำ เรื่องแบบนี้อยู่ที่ความเต็มใจหรือไม่เต็มใจเป็นประเด็นสำคัญ ไม่ใช่หายไปแล้วบอกว่า เป็นคนไม่ดี เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ประเทศไทยมี [พรรคการเมือง] ที่มีนโยบายกัญชาเสรี แต่พอมาวันนี้บอกกัญชาไม่ดีไปแล้ว ในฐานะที่วันเฉลิมเป็นคนไทยประเทศไทยต้องดำเนินทุกวิถีทางในการสอบสวน กัมพูชาจะต้องสอบสวนเช่นกัน ที่ผ่านมามีหลายคดีเวลาที่เกิดเหตุในประเทศไทยเป็นกรณีของคนต่างชาติ สถานทูตจะประสานความร่วมมือ ไม่ใช่การแทรกแซง อาจจะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ซึ่งทำได้อยู่แล้ว ทุกประเทศที่รับรู้ ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ
ในความเป็นครอบครัวต้องใช้ความอดทนแบบทนทายาด ทนจนไม่รู้จะทนอย่างไร อย่างที่บอกว่า มีคำเตือนแบบหวังดีแต่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยมีประจำเลย ระวังนะจะถูกอุ้มหายไปอีกคนก็มี บางทีก็มีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมที่บ้าน คนเตือนมานะ มีอะไรอยากจะให้ช่วยก็บอก…การที่จะผ่านมามายืนพูดมันไม่ใช่ทุกคนจะทำได้…การต่อสู้เรื่องการบังคับสูญหายมันใช้เวลานานมาก ชั่วชีวิตเราอาจจะไม่ทราบความจริง แต่หวังว่าจะมีคนรุ่นใหม่ๆที่พร้อมจะเรียกร้องความเป็นธรรมจากทุกคน
ในส่วนของครอบครัว สิ่งหนึ่งที่พูดมาตลอดสิบกว่าปีคือเรื่องของการบังคับสูญหาย เป็นเรื่องของการสร้างความคลุมเครือโดยรัฐ ความคลุมเครือระหว่างการมีชีวิตอยู่กับการไม่มีชีวิต มันเหมือนคำสาปที่ครอบครัวต้องเผชิญทุกวัน วันหนึ่งอาจมีคนมาบอกว่า เจอคนหายที่นั่นที่นี อีกวันนึงบอกว่าเขาตายไปแล้ว อารมณ์และจิตใจของครอบครัวจะอยู่กับความไม่มั่นคง นอกจากนี้คนที่หายตัวไป ยังถูกทำให้เป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณค่า เป็นคนที่ไม่ควรมีคนใส่ใจ สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้หลายคนที่มีชีวิตอยู่ อย่างมาก คิดว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณมากเลย
สิ่งหนึ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดคือ การเยียวยาที่ไม่ใช่การจ่ายเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงกระบวนการด้านความยุติธรรม การคืนความเป็นธรรม การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีหลักประกันว่า จะไม่มีใครถูกทำให้สูญหายอีก ในไทยเรื่องของการเยียวยาการบังคับสูญหายครั้งแรกและครั้งเดียวที่มีการยอมรับว่า บังคับสูญหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริงและมีการชดเชยครอบครัวในชายแดนใต้ แต่ไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกประการหนึ่งคือ อนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ ให้ความสำคัญกับเหยื่อและครอบครัวมาก ครอบครัวมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย มีส่วนร่วมในการเข้าเป็นกรรมการในการสืบหาความจริง แต่ในร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐแทบจะทุกหน่วยงาน อาจจะมีชื่อของคนทำงานสิทธิมนุษยชน กีดกันครอบครัวในการร่วมร่างกฎหมายและมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการ หวังว่า หากนำพ.ร.บ.เข้าสู่สภา ญาติคนหายควรจะมีส่วนร่วมเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมาย ไม่มีใครที่จะเข้าใจปัญหาของการบังคับสูญหายได้เท่ากับคนที่อยู่ในครอบครัวที่ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้
ในส่วนของคดี เฉพาะกรณีสมชาย นีละไพจิตร กรมสอบสวนคดีพิเศษงดการสอบสวนไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่า จะมีผลต่อตัวชี้วัดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และบอกว่า หากมีหลักฐานอะไรให้ส่งมา อยากจะเรียนให้ทราบว่า ทุกวันนี้การพยายามมีชีวิตอยู่ยังยากเลย การต้องเผชิญการคุกคามอยู่ทุกวันยังเอาตัวรอดได้ยากเลย อย่าว่าแต่ไปหาพยานหลักฐานที่ไหนเลย สุดท้ายอยากจะขอให้กำลังใจทุกครอบครัว ชีวิตนับแต่นี้ไป ถ้าหากว่า คุณต้องอยู่ในครอบครัวที่มีการบังคับสูญหายชีวิตมันจะไม่ปกติ เราต้องอยู่กับการคุกคาม ถูกให้ร้ายป้ายสี เรื่อง Cyber Bullying และไอโอเป็นเรื่องปกติ อยากจะเรียกร้องสังคมให้ยืนอยู่ข้างครอบครัวของผู้สูญหายในการเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่อยากให้ปัดความรับผิดชอบมาที่ครอบครัวอย่างเดียวเนื่องจากปัญหาการบังคับสูญหายเป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคมและกรณีที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จำเป็นที่ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบข้อเท็จจริง…”
“…กรณีวันเฉลิมยิ่งตอกย้ำว่า เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจในรัฐไทยเป็นภัยความมั่นคงของประชาชน ประชาชนไม่สามารถไว้วางใจได้…”
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า “…อยากจะชี้ว่า การเกิดขึ้นของผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 เป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยยะสำคัญมาก ครั้งสุดท้ายที่เรามีผู้ลี้ภัยทางการมืองจำนวนมากคือ การรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 แต่หลังจากนั้นมีการลี้ภัยในกลุ่มเล็กที่เป็นผู้นำทางการเมือง ไม่ได้ขยายไปถึงประชาชนเช่นปรากฏการณ์การลี้ภัยของประชาชนจำนวนมากเกิดขึ้นในปี 2557 นี่เป็นบริบทใหญ่ ทำไมมันถึงเกิดขึ้นแบบนี้ จำนวนผู้ลี้ภัยแน่นอนไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่ทราบอย่างน้อยคือหลักร้อย ต้องถือว่าเยอะเป็นประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้มันชี้ให้เห็นว่า การหายไปของวันเฉลิมก็ดี การเกิดปรากฏการณ์ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า รัฐกำลังมองประชาชนเป็นศัตรูเป็นภัยความมั่นคงของชาติ อย่างน้อยมีประชาขนที่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มีปรากฏการณ์หลายอย่างที่ชี้แบบนั้น ยกตัวอย่างหลังรัฐประหาร 2557 คสช.เรียกประชาชนไปรายงานตัวอย่างกว้างขวาง ประชาชน นักวิชาการ มีการดำเนินคดีความมั่นคงจำนวนมากตามมา มีการทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐประหารจำนวนมาก
ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2549 มีบุคคลจำนวนมากที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์  มีการพูดถึงผังล้มเจ้า ในปี 2553 มีการปราบปรามทางการเมือง มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน นี่คือปรากฏการณ์แวดล้อมว่า ทำไมกรณีของวันเฉลิมจึงมีนัยยะสำคัญ มีคำพูดว่า โลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่ สิ่งที่น่าเศร้าคือ นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาว่า ไทยยังอยู่ในสงครามเย็นแบบเก่า ฝ่ายความมั่นคงอบรมความคิดเป็นหลักสูตรทางการของฝ่ายความมั่นคง ในหมู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ เราได้ปากคำในพยานเหตุการณ์บางกรณี พยานยืนยันว่า เขาได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงานบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่ได้รับการอบรมว่า ผู้ชุมนุมทำลายสถาบันของชาติ อยู่ในสงครามเย็นแบบเก่า มองประชาชนเป็นศัตรู เหมือนในยุคที่เราต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
กรณีที่เราพูดกันเยอะในเรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมย้ำว่า ไม่ว่าวันเฉลิมเป็นใคร หรือเกิดขึ้นกับใครก็ตาม สิทธิและเสรีภาพชีวิตเป็นสิ่งพื้นฐานของผู้คน ที่สำคัญมากคือเพราะเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐถูกสงสัยว่า เข้าไปเกี่ยวข้อง เรื่องนี้ถึงมีความสำคัญขึ้นมาเป็นพิเศษ ไม่ใช่ถูกสงสัยว่า เป็นความขัดแย้งส่วนบุคคล เป็นความสงสัยที่มีพื้นฐานรองรับ หลังรัฐประหารปี 2557 มีความพยายามขอตัวผู้ลี้ภัย เรื่องนี้ยิ่งสำคัญมากๆ กรณีวันเฉลิมยิ่งตอกย้ำว่า เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจในรัฐไทยเป็นภัยความมั่นคงของประชาชน ประชาชนไม่สามารถไว้วางใจได้ เรามีอะไรที่เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของเราบ้าง
เมื่อวานนี้ส.ส.รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกลตั้งกระทู้ถาม สิ่งที่น่าสนใจคือมีประชาชนที่ฟังจำนวนมากพูดว่า สงสัยต้องช่วยกันเซฟโรมด้วย มันสะท้อนว่า ประชาชนในประเทศนี้รู้ดีว่า หากเราไปแตะต้องผู้มีอำนาจ การกระทำผิดของรัฐ คุณจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหรืออื่นๆ สะท้อนว่า สังคมไทยมีปัญหาอย่างมาก สั่งสมมาเป็นสิบปี เรามีระบบกฎหมายและวัฒนธรรมที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิประชาชนได้และไม่ต้องรับผิดเป็นประเด็นสำคัญที่มาเชื่อมโยงกับกฎหมาย ผมคิดว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับทุกคน เราต้องกล้าที่จะไม่เงียบ ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจในรัฐเชื่อว่า ประชาชนจะไม่กล้าพูดเรื่องนี้และเงียบในที่สุด เราต้องสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ในทางกฎหมายเราต้องมีกลไกที่คุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกกระทำโดยรัฐ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า หลังรัฐประหารบางส่วนมองว่า จะมีการผ่านกฎหมายได้ แต่ผมเองไม่เชื่อเลย และเชื่อว่า ตราบใดที่มีนายกฯชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชาและมีส.ว.ชุดนี้ กฎหมายนี้ไม่มีทางผ่าน แต่ในฐานะพรรคการเมืองเราจะผลักดัน พยายามอย่างเต็มที่ที่จะใช้กลไกในสภาผลักดันเรื่องนี้…”

“…ปี 2552 ผมเริ่มรู้จักกับวันเฉลิม รู้จักกันมาสิบปีและทำงานร่วมกันมาห้าปี มีการถกเถียงระหว่างการทำงาน วันเฉลิมหรือต้าร์ เป็นคนน่ารัก ร่าเริงแจ่มใส ตรงไปตรงมา ในเรื่องของการทำงาน เขาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้บริบทที่ขบขัน…ถ้าใครเคยย้อนดูทางเฟซบุ๊กที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะมีความตลกขบขัน ที่อยากจะเน้นย้ำคือ ต้าร์ทำร้ายใครไม่ได้ เพื่อนของวันเฉลิมเล่าว่า เมื่อตอนที่ลงสมัครประธานนักเรียน วิธีการหาเสียงของวันเฉลิม ไม่พูดเรื่องนโยบาย แต่พูดเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันในโรงเรียน ความสัมพันธ์ ความปลอดภัย หลังจากนั้นเขาได้ไปทำงานเยาวชนในชายแดนใต้ มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสึนามิ วันเฉลิมเป็นต้นกล้าการพัฒนาสังคมตั้งแต่ตอนที่เป็นเยาวชน

กรณีของเพจกูต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆที่มีการระบุว่า วันเฉลิมเป็นแอดมินเพจไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นกล่าวหาโดยที่เขาเองไม่ได้มีสิทธิที่จะโต้แย้งอะไรเลย เท่าที่ทราบเขาไม่ใช่แอดมินเพจ แต่เป็นการกล่าวอ้าง เหตุผลที่เขาต้องลี้ภัยออกไป ในปี 2557 ตอนนั้นผมและวันเฉลิม เรามีหลายเหตุผลที่ต้องยุติการทำงานในองค์กร แต่ยังพูดเรื่องเอดส์ ยาเสพติด เมื่อไหร่ที่มีประเด็นที่เชื่อมต่อกับงานที่เราทำ เราก็จะออกมาพูด แน่นอนว่า งานที่เราทำไม่ได้อยู่แค่ที่ความเป็นอยู่ มันมีเรื่องนโยบาย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดเรื่องการเมือง เขาถูกเรียกตัวโดยคสช. วันเฉลิมไม่ได้มั่นใจความยุติธรรมที่จะได้จากรัฐ วันเฉลิมเลือกที่จะแสวงหาความปลอดภัยด้วยการลี้ภัย

ในเรื่องที่เขาทำอะไรลึกๆ เรามีเพื่อนหลายวง ผมจะอยู่วงนอกออกมา มีการติดต่อทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรม เรื่องกัญชาที่เขาโพสต์ ถ้าเกิดว่า เขาจะทำผิดกฎหมาย เขาจะโพสต์ภาพออกโซเชียลทำไม คอนโดที่อยู่ไม่ได้ใหญ่ จะทำเพื่อธุรกิจได้จริงหรือ เราอยากให้มีการแยกแยะ โดยประเด็นของผม หลักคือ ไม่ว่าจะเป็นวันเฉลิมหรือใคร หรืออาจจะเป็นอาชญากรที่ฆ่าคนแล้วลี้ภัย เขาไม่สมควรที่จะถูกอุ้มฆ่า เรามีกระบวนการกฎหมาย ทุกรัฐมีกระบวนการกฎหมาย ผมเพิ่งตอบคนที่มาบอกว่า การอุ้มหายวันเฉลิมไม่ใช่เรื่องของคนไทย เป็นเรื่องของเพื่อนบ้าน ใช่เป็นเรื่องของเพื่อนบ้าน แต่เขาเป็นคนไทย มีอาชญากรรมเกิดขึ้น เขาต้องตามหาว่า ใครเป็นผู้กระทำ หากผู้กระทำไม่ใช่คนในประเทศกัมพูชา ผมมองว่า เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และไม่สมควรที่จะมีใครถูกกระทำแบบนี้ เรื่องนี้เกิดมาตั้งแต่เด็กๆ วันเฉลิมไม่ใช่คนแรก เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมาเกี่ยวกับรัฐและกฎหมาย มักจะถูกเตือนว่า ระวังนะ คำถามของผมคือ เราไม่มีกฎหมายหรือ เราต้องเตือนความปลอดภัยกันอย่างนี้ใช่ไหม…

[ประเด็นกฎหมายและกลไกการป้องกันการบังคับสูญหาย]ในความเป็นไปได้ในเชิงกฎหมายเราเชื่อมั่นคนรุ่นใหม่และนักการเมืองรุ่นใหม่ในระดับหนึ่ง แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายหากเราจะให้ภาระไปอยู่ที่ผู้มีอำนาจ คนในสังคมเรามีส่วนสำคัญในการที่จะไม่ไปสนับสนุนมูลเหตุที่ทำให้เกิดการอุ้มหาย ในโซเชียลพูดถึงว่า ทำไมพูดให้ร้ายประเทศ เราไม่ได้ให้ร้ายใคร ถ้าไม่อยากคุยเรื่องวันเฉลิม เราลองนึกถึงว่า หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมและใครก็ตาม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเรายอมรับมันได้หรือครับ…”

ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิมในงาน “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 

Reference: ILAW