ผู้ใหญ่ใจดี กับคนตัวเล็กตัวน้อย

ราวปี 2550 เป็นต้นมา เราเคยใช้ชีวิตท่ามกลางความสับสน โดยไม่รู้ตนว่าเรากำลังสับสน เอาแต่เชื่อคนที่ทำมาก่อน เกิดก่อน เพื่อจะได้การยอมรับ เพื่อความก้าหน้าในอาชีพการงาน จากผู้ใหญ่ใจดี

ทำงานหนักแทบตาย และท้ายที่สุด เครดิตในการทำงานท้ายหนังสือผลงาน กลับเป็นชื่อของคนอื่น เหมือนตำแหน่ง….ดีเด่น อะไรสักอย่างที่เราได้รับ ที่เขาขอว่าให้เป็นของรุ่นพี่ก่อน เรารอรับปีหน้าแล้วกันเนาะ

ชุดความเชื่อ เกี่ยวกับวัฒนธรรมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่หล่อหลอมพวกเรา มันก็ยังมีนัยของการเป็นพวกเขาพวกเรา เธอเชื่อไหมล่ะ?

ย้อนมองกลับมาที่ตัวเอง ในบางโอกาส ขณะที่เราบอกกับคนอื่นๆว่าคนเรามีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เราต้องช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ด้วยการเข้ามาเป็นอาสาสมัครทีมเราสิครับ

แต่ในบางโอกาสเราก็บอกว่า เราคือคนตัวเล็กตัวน้อย เรากำลังต่อสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกความเหลื่อมล้ำทำให้ขาดโอกาส เข้าไม่ถึงทรัพยากร ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี ที่หยิบยื่นโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเรา
คำถามคือ เราใช้ชุดความคิดความเชื่อแบบไหนเป็นหลัก(การ) เป็นอุดมคติ กันแน่
ระหว่าง เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยจริงๆแหละ มีคนตัวเล็กตัวน้อย เราเป็นพวกคนตัวเล็กตัวน้อย ตอนนี้ตัวใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย จากโอกาสที่ผู้ใหญ่ใจดีมอบให้ แต่ก็ยังสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้สังคมมีความเสมอภาค
(หรือลึกลงในอีกหน่อย แต่ก็ลึกเกินกว่าที่เราจะระลึกรู้ได้)
ไม่ว่าเราจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย หรือคนที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย สังคมก็ยังมีความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมชาติ สิทธิและความเท่าเทียมเสมอภาค เป็นเพียงสินค้าที่ยังขายได้ จงใช้มันเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตัว

“จะมีสักกี่งานกัน ที่เราเองก็ได้ประโยชน์ และ สังคมก็ได้ประโยชน์ “

Quote คำกล่าวในเครื่องหมายคำพูดนั่น คือ ประโยคเด็ดกระเทาะใจ จากผู้ใหญ่ใจดี ทำให้คนใสซื่อ อ่อนน้อม ถ่อมตน หัวอ่อน อย่าง ยุทธนา ลาออกจากงานบริษัทที่แสนจะมีความสุขอยู่แล้ว ผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมทางสังคม เป็นคนใหญ่คนโตขึ้นมาหน่อยนึง ณ ห้วงเวลานึง

แต่เราว่า… สังคมเรามันก็มีความเสมอภาคได้ โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่ใจดี ไม่ต้องมีคนตัวเล็กตัวน้อย แค่มีระบบบริหารจัดการตรงกลางที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่ต้องถูกจำกัดการเข้าถึงได้แค่ผู้ใหญ่ใจดี หรือคัดกรองคนตัวเล็กตัวน้อยให้ต้องเข้าถึงได้โดยผ่านผู้ใหญ่ใจดี.