เป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกันว่า ที่มาและบทบาทของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน เกิดขึ้นจากอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยการแต่งตั้งของ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจอยู่ในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มีส่วนใดยึดโยงกับประชาชน
ภายหลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หากแต่เป็นพรรครวมพลังประชารัฐ ได้ชิงรวบรวมพรรคการเมืองฝ่ายที่สนับสนุน คสช. จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พร้อมกับ เสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่ออีก 4 ปี
เรียกได้ว่าจุดเริ่มต้นทางตันในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ล้วนมีสาเหตุมาจาก สว. 250 คน ได้อำนาจจาก คสช. เข้าไปใช้สิทธิ มีเสียงในรัฐสภา ซึ่งล้วนให้คุณเฉพาะฝ่าย พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา และนักการเมืองฝ่ายที่สนับสนุนประยุทธทั้งสิ้น
การเลือกตั้ง ปี 2566 ประชาชนใช้อำนาจผ่านการลงคะแนนเสียงด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในความเข้าใจของประชาชน คือ บัตรใบหนึ่งเลือกผู้แทนราษฎร หมายถึงในเขตทะเบียนบ้านของตนเอง จะเลือกใครพรรคใดมาเป็นผู้แทนราษฎร และแน่นอนว่าผู้ลงสมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากประชาชน คือ ผู้ชนะการเลือกตั้ง มาต่อกันที่บัตรเลือกตั้งอีกใบ ประชาชนต่างเข้าใจร่วมกันว่า เป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกบุคคลผู้มีความสามารถจากพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชน มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองใดได้รับคะแนนสูงสุด ถือ เป็น พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง และถือสิทธิ์ในการเสนอชื่อ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผลการเลือกตั้ง ปี 2566 แม้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนเป็นอันดับสูงสุด รวมคะแนนเสียงจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ ก็เรียกได้ว่าเกินกว่าครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ที่เกิดจากเสียงของประชาชน แต่ต้องประสบปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล นั่นเป็นเพราะการมีอยู่ของ สว. 250 คน ถูกนำมานับรวมอยู่ในสภา ทำให้สภาผู้แทนราษฎรที่ยึดโยงกับประชาชนมี ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นเพราะ สว. มะเร็งร้ายในระบอบประชาธิปไตย
5 เหตุผล ที่บ่งชี้ว่า สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดย ประยุทธ จันทร์โอชา ไม่ควรมีอยู่ในการเมืองระบอบประชาธิปไตย
- ที่มาของ สว. ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ที่ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ เคยล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
- บทบาทหน้าที่ของ สว. ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่แรก แต่เข้ามาเพื่อสืบทอดอำนาจของกบฏ ให้ผ่านเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง และ สว. จึงมีบทบาทเป็นเพียงประทับตราคำว่า ประชาธิปไตย
- ศักยภาพทางการคิดของ สว. มีข้อจำกัด วิธีคิด ความเข้าใจ ที่มีต่อคำว่า “คะแนนเสียงข้างมาก” ผิดแผกแตกต่างไปจาก ความเข้าใจปกติของคนทั่วไปและคนส่วนบนโลกใบนี้
- สว. ไม่ได้ทำหน้าที่ตราประทับ ให้กับมติของประชาชน เช่น การไม่ออกเสียง การงดออกเสียง (ทั้งที่มันก็ไม่ควรมี สว. แต่แรกแล้ว) แต่ยังนับรวมอยู่ในตัวเลข 250 ที่นำไปรวมอยู่ในสูตรคำนวณ ถูกเหมารวมกับตัวเลขผู้เห็นชอบ หรือผู้ไม่เห็นชอบ ถือเป็นการคดโกงอำนาจประชาชน
- ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ สว. เมื่อพิจารณาจาก การก่อเกิดของ สว. บทบาทในปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคในระบอบ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ไม่คุ้มค่า สิ้นเปลือง ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน ซ้ำยังเป็นผลให้เกิดการเอนเอียงไม่เป็นสภาราษฎรที่เป็นธรรม
เมื่อพิจารณาจาก อำนาจหน้าที่ของ สว. แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลั่นกรอง ยับยั้งร่างกฎหมาย ตรวจสอบ ควบคุม เสนอแนะ เห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่ง ตลอดจนการเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สว. ที่เกิดจากอำนาจ คสช. ไม่มีความชอบธรรมในการได้รับบทบาทต่างๆ สิ่งที่ สว. ควรกระทำคือเคารพเสียงของประชาชน ด้วยการใช้อำนาจเป็นเพียงตราประทับความถูกต้องให้กับประชาชน และเปิดทางให้ผลเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างราบรื่น และสิ้นสุดอำนาจ สว. ที่เกิดจาก คสช. อย่างสง่างาม เราไม่ยอมรับการมีอำนาจของคุณ แต่เราสามารถให้ความชื่นชมการสิ้นสลายเพื่อประชาชนได้อย่างจริงใจ