วงเสวนา ‘ตามหาวันเฉลิม’ ‘กลุ่มเพื่อนวันเฉลิม’ ระบุแม้แต่อาชญากรก็ถูกอุ้มฆ่าไม่ได้ ฮิวเมนไรท์วอทช์จี้รัฐบาลต้องคุ้มครอง ระบุเหตุไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยเพราะ คสช. สะกัดกั้น ‘อังคณา’ ชี้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ต้องให้ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการร่าง ‘ไอลอว์’ ระบุหลังรัฐประหาร ผู้ลี้ภัยหนี-หาย เพียบ ขณะที่กระทรวงยุติธรรมระบุประสานกัมพูชาแล้ว พบอุปสรรค พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
12 มิ.ย. 2563 วานนี้ กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 25 องค์กรจัดงานเสวนา “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” โดยได้เชิญวิทยากรทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อพูดคุยสนทนา รวมถึงออกแบบหลักประกัน หรือกฎหมาย เพื่อไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับใครก็ตาม
กลุ่มเพื่อนแจง วันเฉลิมไม่ใช่แอดมินเพจดัง ระบุแม้แต่อาชญากรก็ถูกอุ้มฆ่าไม่ได้
ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิม กล่าวว่า เขากับวันเฉลิมรู้จักกันเพราะทำงานร่วมกันเมื่อปี 2552 วันเฉลิมเป็นคนน่ารัก ร่าเริง วันเฉลิมเป็นนักเคลื่อนไหวตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน เคยลงไปทำงานที่ชายแดนใต้และทำงานร่วมกับเยาวชนในช่วงเหตุการณ์สึนามิ 2547 การแสดงความคิดเห็นในการทำงานมีความตรงไปตรงมาแต่ก็สอดแทรกไปด้วยความขบขัน ดังนั้นวันเฉลิมไม่มีทางคิดร้ายหรือทำร้ายใครได้
“วันเฉลิมเป็นต้นกล้าแห่งการพัฒนาสังคม เป็นคนทำงานสังคมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเยาวชน ความหลากหลายทางเพศ HIV ผู้ใช้สารเสพติด” ชยุตม์กล่าว
ขณะที่ข้อกล่าวหาว่าวันเฉลิมเป็นแอดมินเพจ ‘กูต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆ’ ชยุตยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นการกล่าวอ้าง และขณะนี้วันเฉลิมไม่มีสิทธิจะโต้แย้งอะไรได้ ชยุตกล่าวต่อไปว่า เมื่อวันเฉลิมโดนคสช. เรียกเข้ารายงานตัวในช่วงรัฐประหาร 2557 วันเฉลิมไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม จึงเลือกที่จะลี้ภัยออกจากประเทศไป
ส่วนข้อกล่าวเรื่องการมีกัญชาตนทราบว่าวันเฉลิมได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่กัมพูชา แต่เรื่องกัญชาอยากให้ความยุติธรรมกับวันเฉลิมด้วย เพราะบ้านหรือคอนโดที่อาศัยนั้นไม่ได้ใหญ่ จะนำมาเป็นที่ปลูกกัญชาขายได้อย่างไร
“ไม่ว่าจะเป็นวันเฉลิมหรือใคร ก็ไม่สมควรถูกอุ้มฆ่า ทุกประเทศล้วนมีกฎหมาย เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ผมยังเด็ก การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐ เรามักจะถูกเตือนเสมอ ซึ่งจริงๆแล้วความปลอดภัยของเราอยู่ที่การเตือนหรืออยู่ที่กฎหมาย ไม่ใช่แค่คนที่เห็นต่างแม้แต่อาชญกรก็ถูกอุ้มฆ่าไม่ได้ เรามีกฎหมายไว้เพื่อหาความยุติธรรม” ชยุตม์กล่าว
Human Rights Watch จี้รัฐบาลต้องคุ้มครอง ระบุเหตุไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยเพราะ คสช. สะกัดกั้น
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรกแต่ยังมีกรณีการอุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้านอีก 8 คน
“สิทธิขั้นพื้นฐานของวันเฉลิมกำลังถูกละเมิด ตอนนี้เขาอยู่ในสถานะที่กำลังจะถูกพรากชีวิตไป ดังนั้นเราควรจะต้องตระหนัก เห็นใจ และวิตกกังวลกับเรื่องนี้ และรัฐบาลไทยมีหน้าที่คุ้มครองคนไทย วันเฉลิมก็มีฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์หรือรัฐมนตรีคนใดเคยรู้จักเขาหรือไม่ รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำตามรัฐธรรมนูญที่ต้องคุ้มครองเขา” สุณัยระบุ
สุณัยอธิบายว่า นอกจากนี้ทางกัมพูชาเองซึ่งได้ลงนามในอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ จึงควรที่จะให้ความร่วมมือในการสืบสวนเรื่องนี้ด้วย
ต่อคำถามว่าในโซเชียลมีเดียมีความพยายามเคลื่อนไหวโดยปฏิบัติการข่าวสาร (IO) เพื่อสร้างมลทินและทำให้วันเฉลิมดูด้อยค่าลง เหตุใด IO ไทยจึงมีความพยายามช่วยกัมพูชาในเรื่องนี้ สมรู้ร่วมคิดอะไรกันหรือไม่?
สุณัย เสนอว่าควรมีการเปิดเผยเอกสารของสถานทูตไทยที่ส่งไปให้รัฐบาลกัมพูชาว่ามีเนื้อหาเหมาะสมครบถ้วนหรือไม่อย่างไร หากไม่ครบถ้วนก็ควรมีการผลักดันให้ออกเอกสารฉบับใหม่ไปอีกครั้ง เพื่อจี้ให้ทางกัมพูชาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่
“ชีวิตของผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ได้ เนื่องจากสมัยรัฐบาล คสช.ได้ไปขอประสานงานกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านให้สะกัดกั้นไม่ให้ UNHCR ขึ้นทะเบียนแก่ผู้ลี้ภัยเหล่านั้น ทำให้วันเฉลิมถูกเบรคการลงทะเบียนจากไทยไปยังกัมพูชา ดังนั้นไม่ว่า UNHCR อยากจะช่วยเพียงใด ก็ขึ้นทะเบียนให้คนไทยไม่ได้ ” สุณัยกล่าว
อังคณาชี้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ต้องให้ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการร่าง
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เธอคิดมาตลอดว่า สมชาย นีละไพจิตร สามีของเธอจะเป็นคนสุดท้ายที่โดนอุ้มหาย แต่ก็ยังมีการอุ้มหายอีกเรื่อยๆ ดังนั้นรัฐต้องมีการสร้างกลไกเป็นหลักประกันไม่ให้ใครถูกอุ้มอีก เพื่อคุ้มครองไม่ใช่เพียงคนเห็นต่างแต่คุ้มครองให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย
“รัฐชอบสร้างให้คนที่ถูกอุ้มหายไปเป็นคนไม่ดีในสายตาของรัฐ และสร้างความเชื่อที่ว่าคนไม่ดีหายไปซักคนคงไม่มีใครเดือนร้อน ซึ่งมันสร้างความเจ็บปวดให้แก่ครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายเป็นอย่างมากการต่อสู้เรียกร้องที่ผ่านมาก็ไม่พบความยุติธรรม มีแต่ความสิ้นหวังเพิ่มขึ้น ทั้งที่จริงๆแล้วรัฐบาลมีความสามารถแต่อยู่ที่ความเต็มใจว่าจะทำหรือไม่ทำ” อังคณากล่าว
อังคณา กล่าวถึงการร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหายว่า อยากขอให้ครอบครัวของผู้สูญหายได้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ตลอดจนเป็นคณะกรรมการวิสามัญติดตามกรณีที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครเข้าใจสถานการณ์นี้ได้ดีไปกว่าครอบครัวของผู้เสียหาย
‘ไอลอว์’ ระบุหลังรัฐประหาร ผู้ลี้ภัยหนี-หาย เพียบ
อานนท์ ชวาลาวัณย์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 คสช. ได้มีการเรียกคนบางกลุ่มเข้ารายงานตัวปรับทัศนคติในค่ายทหาร ในช่วงนั้นจึงมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองลี้ภัยออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก และในช่วงปี 2559 เป็นต้นมา พบว่ามีผู้ลี้ภัยบางรายหายตัวไป เช่น วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ในปี 2560 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศในปี 2561 หรือ สยาม ธีรวุฒิ เมื่อปี 2562 และมีกรณีนักเคลื่อนไหวจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในไทยหายตัวไปในกรุงเทพฯ อีกด้วย
นอกจากนี้อานนท์ยังระบุว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยอีกหลายคนที่ยังอยู่ในไทยก็ถูกคุกคาม เช่น สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ ซึ่งเคยถูกอุ้มตัวไปแต่เจ้าหน้าที่นำกลับมาส่ง และยังถูกลอบทำร้ายหลายครั้ง หรือเอกชัย หงส์กังวาน ก็ถูกลอบทำร้ายหลายครั้งเช่นกัน
“ไม่ว่าสาเหตุเบื้องหลังจะเกิดจากอะไร แต่การที่รัฐบาลเงียบเช่นนี้ทำให้ประชาชนเล็งมาที่รัฐบาลเพราะความน่าสงสัย ดังนั้นรัฐบาลไทยและกัมพูชามีหน้าที่ต้องติดตามและทำให้ความจริงปรากฎ เพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน” อานนท์กล่าว
แอมเนสตี้จี้รัฐบาล 2 ประเทศเร่งตรวจสอบ ผลักดัน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่น่าเกิดขึ้นแม้จะเป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง และยืนยันว่าแอมเนสตี้จะเรียกร้องให้เกิดความเคลื่อนไหวและสืบสวนว่ามีอะไรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โปร่งใสและเป็นธรรม และพยายามผลักดันให้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการอุ้มหายนั้นแล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นหลักประกันความปลอดภัยแก่ประชาชน และสามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้วิธีนอกกฎหมายกับประชาชนได้ รวมถึงการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม
“เราอยู่ในดินแดนที่คลุมเครือ ปากที่เผอิญพูด มือที่บังเอิญโพสต์ หรือเพียงแค่ความคิดที่แว๊บเข้ามา ก็โดนเดือนแล้ว ทำให้เราวิตกว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งที่จริงกฎหมายไม่ควรถูกออกแบบมาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน” ปิยนุชกล่าว
ปิยนุช ยังระบุว่า แอมเนสตี้ยินดีที่เห็นภาคประชาชนลุกขึ้นสู้ไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องของวันเฉลิม แต่พวกเขาก็ยังถูกคุกคามทั้งๆ ที่เรียกร้องอย่างสันติ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบหาความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่ให้ประชาชนอยู่อย่างรู้สึกไม่ปลอดภัย
กระทรวงยุติธรรมระบุประสานกัมพูชาแล้ว พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีอุปสรรค
นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ (กฎหมาย) ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยืนยันถึงการกระสานงานระหว่างกระทรวงต่างประเทศของไทยกับสถานทูตไทยในกัมพูชาแล้ว เพื่อติดตามกรณีการอุ้มหายวันเฉลิม
ด้านความคืบหน้า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหาย ซึ่งเกิดจากการเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ปี 2550 นงภรณ์ระบุว่า ตอนนี้ได้ดำเนินการไปเรื่อยๆ แต่พบอุปสรรคซึ่งคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ทำให้กระบวนการช้าลง จึงยังไม่ได้รับปากว่ากฎหมายฉบับนี้จะแล้วเสร็จและนำมาใช้ได้เมื่อใด
เลขาพรรคประชาชาติย้ำกฏหมายต้องมีไว้เพื่อประชาชน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกฎหมายของไทยในปัจจุบันว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย กฎหมายมุ่งรับใช้ชนชั้นนั้น” ซึ่งปัจจุบันกฎหมายไทยไม่ได้เขียนมาเพื่อรับใช้ประชาชนโดยแท้จริง และรัฐก็ใช้วิธีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในการปราบปรามผู้กระทำผิด อาชญกร ผู้เห็นต่างทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง โดยไม่มีการรับผิดชอบและไม่ใส่ใจต่อผลที่ตามมา
พ.อ.อ.ทวี กล่าวย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปกฎหมาย ต้องไม่ทำให้อำนาจในการออกและตีความกฎหมายอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง
“ทำให้กฎหมายมีประชาชนเป็นเจ้าของ ทำยังให้กฎหมายเป็นประชาธิปไตยรวมถึงผลักดันให้ พ.ร.บ.อุ้มหายแล้วเสร็จเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ” พ.อ.อ.ทวี กล่าว
เลขาพรรคก้าวไกล ชี้รัฐไทยมองประชาชนเป็นศัตรู ยันเดินหน้าดัน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐกำลังมองว่าประชาชนเป็นศัตรู เป็นภัยความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นความคิดแบบเก่าเหมือนตอนสู้กับคอมมิวนีสต์ในอดีตเหมือนไทยยังอยู่ในโลกสงครามเย็น ในปี 2553 เจ้าหน้าที่ถูกสอนมาว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่ม นปช. จะมาทำลายสถาบันหลักของชาติ จึงเกิดการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ต่อมาช่วงหลังรัฐประหาร 2557 นักเคลื่อนไหวที่เห็นต่างทางการเมืองไม่สามารถอยู่ในประเทศได้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก
ชัยธวัช ยังกล่าวถึงประเด็นที่ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาถึงประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จนเกิด #saveโรม ขึ้นในโซเชียลมีเดีย ชัยธวัชชี้ว่าเป็นการรับรู้ของคนในสังคมว่าหากไปแตะต้องผู้มีอำนาจหรือการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ จะทำให้ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ชัยธวัช มองว่ากฏหมายป้องกันการอุ้มหายน่าจะเกิดขึ้นในยากหากพล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอำนาจ แต่อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลก็พยายามเต็มที่ในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยตอนนี้ได้ร่างกฎหมายฉบับร่างเสร็จเรียบร้อย และเตรียมนำร่างเข้าสู่ กมธ. ต่อไป โดยความหวังว่าหากกฏหมายฉบับนี้แล้วเสร็จจะเป็นกฎหมายเฉพาะที่เข้ามาดูแลในส่วนที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำหรือละเมิดสิทธิของประชาชน และหวังว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะช่วยกันผลักดันเพื่อประชาชน
อนึ่ง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 37 ปี คือผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่พักอาศัยอยู่ประเทศกัมพูชา วันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมาเขาถูกอุ้มหายตัวไปจากหน้าคอนโดที่กรุงพนมเปญ ขณะเดินลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโด โดยระหว่างนั้นเขาได้คุยโทรศัพท์กับ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นพี่สาว โดยเธอเล่าว่าเสียงสุดท้ายที่ได้ยินจากวันเฉลิมผ่านโทรศัพท์คือ “โอ๊ย หายใจไม่ออก” ก่อนสายจะตัดไป เหตุการณ์ดังกล่าวมีคนจำนวนมากสนใจและสร้างปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องการหาตัวเขา พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก #saveวันเฉลิม และ #RIPวันเฉลิม ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์
การอุ้มหายวันเฉลิมล่วงเข้าหนึ่งสัปดาห์ แต่ยังไม่พบความชัดเจนใดๆ จากทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชา อย่างไรก็ตามในโซเชียลมีเดีย #saveวันเฉลิม ยังคงเป็นกระแสอยู่ รวมถึงยังมีนักเคลื่อนไหวจัดการชุมนุมเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ และจัดเวทีเสวนาเพื่อกดดันให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่
วันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมด่วน เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับกรณีการลักพาตัวนายวันเฉลิม โดยที่ประชุมมีมติให้เชิญเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชา พร้อมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงไทย เช่น ผู้แทนสำนักงานพระธรรมนูญทหาร ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ มาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการใน วันพุธที่ 17 มิถุนายน